12 ธ.ค. 2554

ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช


       ตำนานกล่าวไว้ว่า  พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก  หรือ  พระมหาธรรมราชาพญาลิไท
กษัตริย์องค์ที่ 4  ในพระราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย  เป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช 
เมื่อราว พ.ศ. 1900  ทรงโปรดให้ช่างสวรรคโลก ช่างเชียงแสน  และช่างหริภุญไชย 
สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย  ช่วยกันหล่อ พระพุทธรูปขนาดใหญ่  3  องค์  ได้แก่ 
พระศรีศาสดา พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์

       จวบจนถึงวันพฤหัสบดี  ขึ้น  15  ค่ำ  เดือน 4 ปีเถาะจุลศักราช  717 ราว พ.ศ.1898
ได้มงคลฤกษ์  กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง  3  องค์ เมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว  และ
ทำการแกะพิมพ์ออกปรากฏว่า  พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา  องค์พระสมบูรณ์สวยงามดี 
ส่วนพระพุทธชินราชนั้นได้หล่อ ถึง 3 ครั้งก็ไม่เสร็จเป็นองค์พระได้  กล่าวคือทองแล่นไม่ติดเต็ม
องค์  พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกจึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้งครั้น
นั้นจึงร้อนถึงอาสน์พระอินทร์เจ้าจึงนฤมิตเป้นตาปะขาวลงมาช่วยทำรูปพระ  คุมพิมพ์ปั้นเบ้าด้วย
อนุภาพพระอินทราธิราชเจ้า  ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ 



       พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏฟทรงปิติโสมนัสเป้นอย่างยิ่ง  จึงตรัสให้หา  "ตาปะขาว"  ผู้นั้น
แต่ตาปะขาวได้หายตัวไปแล้ว หมู่บ้านและวัดที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า  บ้านตาปะขาวหาย
และวัดตาปะขาวหาย  ต่อมาจนถึงทุกวันนี้  และจากวัดตาปะขาวหายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 
800  เมตร  ได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปของตาปะขาว  เล่ากันว่ามีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิด
เป็นช่องขึ้นไป  ชาวบ้านเห็นเป็นที่ อัศจรรย์จึงได้สร้างศาลาขึ้นไว้  ณ  พื้นดินเบื่องล่างไว้เป็นที่ระลึก
เรียกว่า "ศาลาช่อฟ้า"  ตราบจนทุกวันนี้



ประวัติพระพุทธชินราช

       พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงาม ซึ่งจัดได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่
งดงามที่สุด องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว (๒.๘๗๕ เมตร) สูงเจ็ดศอก
(๓.๕ เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่เมืองพิษณุโลกมาตั้งแต่
สมัยโบราณกาล  สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงปิดทองเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๖
และเมื่อ ๒๔๗๘ ได้มีการลงรักปิดทองเต็มองค์อีกครั้งหนึ่ง ให้พุทธศาสนิกชนได้ สักการะบูชา
อยู่จนถึงปัจจุบัน  ปัจจุบันพระพุทธชินราชประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารทางทิศตะวันตกของ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร องค์พระนั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงายพระพักตร์
หันไปทางทิศตะวันตก (ด้านริมแม่น้ำน่าน) มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทอง
ประดับเนื้อพระปฤษฎางค์ ประณีตอ่อนช้อยงดงาม มีความศักดิ์สิทธิ์ น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง
และช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชงามเด่น ชัดเจนยิ่งขึ้น

       พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากสุโขทัย
ประยุกต์ เพราะเกศมีรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนมะตูม เช่น
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยมีพระอุณาโลมผลิ อยู่ระหว่างพระโขนง พระวรกายอวบอ้วนมี สังฆา
ยาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้วนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาท แบนราบ
ค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาวมีรูป อาฬวก ยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อ
ด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ

       วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่เรียกขานกันว่า  "วัดใหญ่"  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านใน
บริเวณตัวเมืองเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่างามที่สุดองค์หนึ่ง
ของไทย พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนนับถือมาตั้งแต่โบราณ สันนิฐานว่า
สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท  โปรดให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา
ครั้งสถาปนาเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวงในพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระพุทธชินราชคือประจักษ์
พยานถึงความสูงส่ง ทางฝีมือและความฉลาดลึกซึ้งของช่างในยุคนั้นนอกจากองค์พระจะงดงาม
โดยพุทธลักษณะคือเป็นการนำเอาลักษณะที่งามตามแบบอย่างพระพุทธรูปสุโขทัยกับเชียงใหม่
มาผสมผสานกันอย่างลงตัวแล้วการประดิษฐานองค์พระในจุดที่พอดีทั้งเรื่องแสงเงาและมุมมองยัง
มีส่วนสำคัญให้เราได้รับความงามนั้นอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นฝีมือที่สร้างโดยมนุษย์เป็น
ผู้สร้างขึ้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมานมัสการพระพุทธชินราชครั้งแรกใน
ปี ๒๔๓๕ ทรงบันทึกไว้ว่า "เวลานั้นยังมิได้ปฏิสังขรณ์แก้ไขพระวิหารให้สว่างอย่างทุกวันนี้
พอไปถึงประตูวิหารแลเข้าไปข้างใน ดูที่อื่นมืดหมดเห็นแต่องค์พระชินราชตระหง่านงามเหมือน
ลอยอยู่ในอากาศ เห็นเข้าก็จับใจเกิดเลื่อมใสในทันที เพราะเขาทำช่องแสงสว่างเข้าทางประตูใหญ่
ด้านหน้าแต่ทางเดียว พระชินราชตั้งอยู่ข้างในตรงประตูและเป็นของปิดทอง จึงแลเห็นก่อนสิ่งอื่นใน
วิหาร" ต่อมาได้มีการเจาะหลังคาวิหารให้แสงสว่างเข้าได้มากขึ้น ซึ่งกลับทำให้องค์พระไม่เด่นเช่น
ที่เป็นมาแต่โบราณ อีกประการหนึ่งได้แก่การกำหนดตั้งองค์พระให้หน้าตักอยู่ในระดับสายตาในวิหาร
ซึ่งมีรูปทรงยาวเปรียบประดุจกล้องส่องกำกับระยะการมองให้ได้คมชัดที่สุดช่วยให้เราเห็นความงามได้
เต็มที่ ข้อนี้ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่าหากพระพุทธชินราชไปประดิษฐานอยู่ในวิหารสั้น ๆ และองค์พระตั้งอยู่
สูงจนต้องแหงนหน้าดูจะไม่งามได้เท่าที่เป็นอยู่นี้ พระพุทธชินราชนั้นมิได้ "เป็นหลักเป็นศรี" เฉพาะแก่
จังหวัดพิษณุโลกเท่านั้นดังที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสรรเสริญว่า "ถ้าพระพุทธชินราช
ยังคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ตราบใดเมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้นถึงในเมือง
พิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่
เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้ "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น